เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง จ. พิษณุโลก วอนนายกฯ ขยายเวลาการบังคับใช้ พรบ. เดินเรือในน่านน้ำไทย

เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง จ. พิษณุโลก วอนนายกฯ ขยายเวลาการบังคับใช้ พรบ. เดินเรือในน่านน้ำไทย


 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน  ร.อ.อุบล  พุทธรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ใน จ.พิษณุโลก กว่า 50 คนได้รวมตัวเข้าพบ นายศุภชัย  เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่ห้องประชุมสภาเกษตรกร จ.พิษณุโลก ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก อาคารใหม่ ชั้น 7 เพื่อขอยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ที่ประกาศบังคับใช้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังหรือในแม่น้ำจะต้องไปขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 มิเช่นนั้นอาจจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท อีกทั้งการสร้างหรือใช้กระชังปลาต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองมาตรฐานการก่อสร้างซึ่งก็ต้องจ่ายเงิน
 



 


ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่ประกอบอาชีพประมง ที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นที่ทำมาหากินและเป็นที่อยู่อาศัย โดยชาวบ้านกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยไม่ทราบมาก่อนเพิ่งจะมาทราบเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ซึ่งบทบัญญัติให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สิ่งล่วงล้ำแหล่งน้ำ เช่นแม่น้ำลำคลองอ่างเก็บน้ำทะเลสาบทะเลในน่านน้ำไทยกับกรมเจ้าท่า ให้ไปขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2560 นี้ หรือได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่าแล้วแต่สิ่งก่อสร้างล่วงล้ำแหล่งน้ำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต ต้องมีโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในอัตราที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายปีทุกปีต่อไปอีกด้วย เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมากสำหรับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและทำประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยและมีฐานะยากจน

โดย ร.อ.อุบล เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ของ จ.พิษณุโลก มีทั้งหมด 371 ครอบครัว รวม 1,113 คน จำนวน 4,862 กระชัง พื้นที่กระชัง 56,761 ตารางเมตร ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี รวมทั้งสิ้น 2,838,050 บาท หากต้องถูกปรับจะต้องเสียค่าปรับสูงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 56,761,000 บาท และถูกดำเนินคดีทางอาญา รวมทั้งเสียค่าตอบแทนรายปีเป็นสองเท่า เป็นเงิน 5,676,100 บาท วันนี้พวกเราจึงมารวมตัวเพื่อขอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณา ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เกษตรกรซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ได้มีเวลาปรับตัวและสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อน

 




และหากบังคับใช้แล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรจริง ๆ ขอได้โปรดมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกร ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย และการประกอบอาชีพดังกล่าวได้เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่สามารถจะไปประกอบอาชีพอื่นได้ นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลยกเว้นค่าปรับทางอาญา และค่าปรับก่อนออกใบอนุญาตตารางเมตรละ 1,000 บาท รวมทั้งพิจารณาทบทวนลดหย่อนค่าตอบแทนรายปีจากเดิมตารางเมตรละ 50 บาท เป็นตารางเมตรละ 5 บาทให้ด้วย

 

 

ภาพ / ข่าว : กรรณิการ์  สิงหะ ทีมข่าวคลิ๊กนิวส์ จังหวัดพิษณุโลก






ติดต่อ โฆษณา

Contact : Click Marketting -

Clicknews-tv.net