จ.กาฬสินธุ์-เกษตรกรนาคูร้องเรียนถูกบริษัทโกงปลูกมะเขือเทศไม่ได้เงิน!!!

จ.กาฬสินธุ์-เกษตรกรนาคูร้องเรียนถูกบริษัทโกงปลูกมะเขือเทศไม่ได้เงิน!!!


เมื่อเวลา 10.30 น.  วันที่ 7 มิ.ย. 60 ที่ห้องไกล่เกลี่ยศูนย์ดำรงธรรม อ.นาคู  จ.กาฬสินธุ์ นายนิจ  ไพรสณฑ์  นายอำเภอนาคู มอบหมายให้นายโกศล  นนทารักษ์  ปลัดอาวุโส  เป็นประธานไกล่เกลี่ยปัญหาร้องเรียนระหว่างเกษตรกรที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.โนนนาจาน ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู กับบริษัทไทยชุนฟู้ดส์ จำกัด ที่มีนายมานพ  วันชม  ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมเกษตรกร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นตัวแทนเข้ารับฟังปัญหาและร่วมไกล่เกลี่ย  และนายบำรุง  คะโยธา  อดีตแกนนำสมัชชาคนจน  ในฐานะกรรมการศูนย์แลกเปลี่ยนชาวนาเอเชีย  ผู้นำเกษตรอินทรีย์ อ.นาคู  ร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อน หลังได้ร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ  เนื่องจากลงทุนปลูกมะเขือเทศกับบริษัทไทยชุนฟู้ดส์ จำกัด แล้วไม่ได้รับเงินตอบแทน


นางสนั่น  พลวิชัย  อายุ 57 ปี  กล่าวว่า ได้ร่วมปลูกมะเขือเทศกับบริษัทไทยชุนฟู้ดส์ จำกัด มาเป็นปีที่ 2 โดยบริษัทได้เข้ามาส่งเสริมในการปลูกพืชฤดูแล้งปีแรกยังพอได้กำไรกว่าหมื่นบาทไม่มีปัญหาอะไร  แต่พอมาปีนี้กับเกิดปัญหาทั้ง ๆ ที่ก็ลงทุนกับบริษัทเหมือนเดิมซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและสารเคมีทุกอย่าง  รวมถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งจำหน่ายให้กับบริษัทฯ  แต่ความผิดปกติอยู่ที่การขายคืนผลผลิตให้กับเกษตรกรจากราคารับประกันที่ 2.35 บาท  แต่เงินที่ได้ถ้าเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ส่งเข้าบริษัทหักต้นทุนจากการซื้อผลิตภัณฑ์แล้วบางรายเหลือเงินเพียง 400 กว่าบาท  บางรายก็ยังไม่ได้รับเงินจากบริษัท ทั้ง ๆ ที่ผ่านมานานกว่าเดือนแล้ว  เกษตรกรยอมเป็นหนี้เกือบหมื่นบาทต่อคนในการลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยต่าง ๆ เพื่อลงทุนปลูกมะเขือเทศและส่งจำหน่ายคืนให้กับบริษัทระยะเวลา 3 เดือน แต่ตอนนี้เวลาผ่านไป 1 เดือนยังไม่ได้เงิน อีกทั้งการอ้างของบริษัทฯ ต้องหักผลผลิตที่เสียหายที่มีจำนวนมาก ทำให้รายได้ของเกษตรกรหายไป  ปริมาณที่รับซื้อจากไร่กับที่ไปชั่งหน้าโรงงานมีปริมาณไม่เท่ากัน 
“ส่วนนี้อยากจะให้ผู้ที่มีอำนาจเข้ามาดูแล เพราะคิดว่าถูกโกง  บางรายได้เงินแต่ก็ได้เงินไม่ตรงตามจำนวน  บางคนได้เพียง 400 บาทก็มี  หรือบางรายก็ไม่ได้เลยอ้างหักค่าใช้จ่ายการผลิต โดยเฉลี่ยเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันมี 32 คน ทั้ง อ.นาคู ใช้พื้นที่ปลูกรายละ 2 ไร่ มีต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมีอื่น ๆ  อยู่ระหว่าง 7,500 – 8,800 บาท  ที่หากมีปัญหาเช่นนี้ปีหน้าคงไม่ร่วมกับบริษัทฯนี้แล้ว”
นายโกศล  นนทารักษ์  ปลัดอาวุโส ประธานการไกล่เกลี่ยและรับฟังปัญหาความเดือดร้อน กล่าวว่า  กรณีที่ชาวบ้านได้มาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์  ซึ่งปัญหานี้ทางบริษัท ไทยชุนฟู้ดส์ จำกัด ได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรโดยผ่านมายังผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  โดยที่ส่วนราชการไม่ได้รับรู้และเป็นผู้กำกับดูแล  ซึ่งการส่งเสริมของบริษัทฯ ได้เข้ามาตั้งแต่ปี 2558  โดยส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะเขือเทศส่งโรงงาน เพื่อทำน้ำผักผลไม้กระป๋องส่งจำหน่าย   ปัญหาการร้องเรียนคือการไม่ได้รับเงินจากการจำหน่ายผลผลิตคืนกับบริษัทฯ ทั้ง ๆ ที่มีการทำสัญญาและมีการรับประกันราคาสินค้า  โดยทางบริษัทฯ ได้อ้างถึงความเสียหายของผลผลิต ทำให้เกษตรกรบางรายได้รับเงินน้อย หรือไม่ได้รับเลยเพราะหักต้นทุนที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยต่าง ๆ กับบริษัทฯ ระบุให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องซื้อทุกคน  นอกจากนี้จากการสอบถามตัวแทนบริษัทฯ ที่เป็นฝ่ายส่งเสริมในพื้นที่และระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าสาเหตุที่เกษตรกรได้รับเงินน้อยนั้น มาจากปริมาณผลผลิตที่หายไปเฉลี่ยรายละ 1- 3 ตัน ปริมาณที่รับซื้อกับเกษตรกรจากไร่และปริมาณผลผลิตที่หน้าโรงงานไม่ตรงกัน  โดยเบื้องต้นทางศูนย์ดำรงธรรม อ.นาคู  ได้ให้ตัวแทนบริษัทฯ ได้นำข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นหาทางเยียวยาให้กับเกษตรกร โดยกำหนดให้ถึงสิ้นเดือดนี้จะต้องมีคำตอบให้กับชาวบ้าน

 

 

 

 

 


 



นายบำรุง  คะโยธา  กล่าวว่า เงื่อนไขที่บริษัทฯ ได้สร้างมาเพื่อเอาเปรียบเกษตรกร เพราะมะเขือเทศที่รับไปจากเกษตรกรมีคุณภาพดี แต่เมื่อไปถึงโรงงานกลับบอกเน่าเสียที่มีจำนวนมาก และไม่มีความรับผิดชอบจากบริษัท เช่นในรายนางวิเชียร  ทรัพย์พงษ์  มีผลผลิตส่งเข้าโรงงานชั่งจากไร่แล้วกว่า 9 ตัน  แต่ตัวเลขจ่ายเงินจากทางโรงงานเหลือเพียง 5 ตัน  หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินเพียง 400 บาท ลงทุนลงแรงทำมา 3 เดือนเป็นเรื่องบอบช้ำของเกษตรกรอย่างมาก  ขณะที่ในพื้นที่ อ.นาคู  ได้มีการผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด แต่ดูจากรายการสินค้าที่ให้เกษตรกรซื้อมามีแต่สารเคมี  สิ่งนี้ก็คงผิดวัตถุประสงค์อีก 
อย่างไรก็ตาม ต้องฝากถึงเกษตรกรให้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้จะดีที่สุด เพราะจะทำให้เรามีอยู่มีกิน และมีรายได้ทุกวัน   ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาล  ส่วนราชการต้องเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะการเข้ามาส่งเสริมของเอกชน  แม้ครั้งนี้จะไม่ผ่านส่วนราชการ  เป็นเอกชนที่อาศัยพื้นที่ชายขอบดึงประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนปลูก ภาครัฐจึงต้องเข้ามากำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น  ทั้งนี้หากผลการเจรจาไม่เป็นผลและชาวบ้านไม่ได้รับการเยียวยาก็จะมี 2 แนวทางในการขับเคลื่อนคือการเรียกร้องให้บริษัทฯ ออกมารับผิดชอบ  และการอาศัยกฎหมายต่อไป

 

 

ภาพ / ข่าว : ทีมข่าวคลิ๊กนิวส์ จังหวัดกาฬาสินธุ์
 






ติดต่อ โฆษณา

Contact : Click Marketting -

Clicknews-tv.net